Pay yourself first จ่ายให้ตัวเองก่อน (ก่อนจะไปเป็นภาระคนอื่น)

· 1 min read
Pay yourself first จ่ายให้ตัวเองก่อน (ก่อนจะไปเป็นภาระคนอื่น)

หนึ่งในแนวคิดเรื่องการเงินส่วนบุคคลที่คนมักละเลยคือ
“จ่ายให้ตัวเองก่อน” – Pay Yourself First

ฟังดูเหมือนเห็นแก่ตัว แต่จริงๆ แล้ว มันคือรากฐานของการใช้ชีวิตแบบไม่เป็นภาระใคร

เวลาได้เงิน ไม่ว่าจะจากงานประจำ รายได้เสริม หรือแม้แต่ลาภลอย สิ่งแรกที่ควรทำคือ กันเงินบางส่วนให้ตัวเองก่อน
ไม่ใช่เอาไปใช้จ่ายก่อน แล้วเหลือเท่าไหร่ค่อยเก็บ (หรือถ้าใครชอบ concept พี่ชิต* "ทำงานให้เยอะ แดกให้น้อย เหลือค่อยออม"* ก็ได้แต่ต้องมีวินัย 😂)

เงินที่กันไว้ให้ตัวเอง ไม่ได้เอาไว้ซื้อของฟุ่มเฟือย หรือกินหรูอยู่แพง
แต่มันคือเงินสำหรับสองกองทุนสำคัญในชีวิต:

  • กองทุนสำรองฉุกเฉิน – ไว้ใช้เมื่อชีวิตไม่เป็นไปตามแผน เช่น ตกงาน เจ็บป่วย

  • กองทุนเกษียณ – ไว้ใช้ยามที่ไม่มีรายได้จากการทำงานอีกต่อไป


หลายคนเข้าใจว่าเกษียณคืออายุ 60 แล้วเลิกทำงาน
แต่ความหมายที่แท้จริงคือ:

การเกษียณ คือการที่เราหยุดทำงานเพื่อเงิน เพราะเรามีทรัพยากรเพียงพอจะใช้ชีวิตได้เอง

พูดง่ายๆ คือ มีอิสระจากการทำงาน ไม่ใช่แค่ไม่มีงานทำ

ถ้าคุณอายุ 75 แล้วต้องยังทำงานเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายพื้นฐาน นั่นยังไม่เรียกว่าเกษียณ
แต่ถ้าคุณอายุ 45 แล้วมีเงินพอเลี้ยงชีวิต และเลือกหยุดทำงานเอง — แบบนั้นถึงจะเรียกว่าเกษียณ

(ซึ่งถ้าคุณยังอยากทำงานต่อ เพราะมันเติมไฟให้ชีวิต ก็ไม่มีใครบังคับให้ต้องเกษียณอยู่ดี)


เงินสำรองฉุกเฉิน: เหมือนประกันชีวิต แต่ใช้ตอนยังไม่ตาย

เงินก้อนนี้คือหลักประกันชีวิตเราในวันที่แผนพัง เช่น ตกงานกะทันหัน, ป่วย, ถูกเลิกจ้าง ฯลฯ

ควรมีอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน
ถ้าน้อยกว่านั้น ชีวิตคุณ “ไม่ปลอดภัย”

และที่สำคัญคือ ไม่มีใครจะมาเตรียมเงินก้อนนี้ให้คุณ นอกจากคุณเอง


กองทุนที่เรียกว่า “ลูก”

ผมเคยอ่านบทความเกี่ยวกับพ่อแม่หลายคู่ในเกาหลีใต้ ที่เอาเงินทั้งหมดที่มีไปลงกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “กองทุนลูก”

ส่งเรียนโรงเรียนแพง เลี้ยงให้มีชีวิตดีเกินตัว ทุ่มทุกอย่างเพื่อลูกคนเดียว ด้วยความหวังว่า
วันหนึ่งลูกจะโตมา “กอบกู้ชีวิตเราในยามแก่”

แต่นี่คือความฝันที่ไม่สอดคล้องกับโลกจริง
เพราะลูกก็ต้องใช้ชีวิตของเขาเอง
เขาก็มีภาระ มีฝัน มีวิกฤต
และสุดท้าย ทั้งพ่อแม่และลูก อาจไม่มีใครไปรอดเลย


Dumbshit Spending

อีกพฤติกรรมที่ควรหยุดคือ “จ่ายให้ตัวเองแบบไร้สติ”
จ่ายให้ของที่ไม่จำเป็น, ของที่ซื้อมาเพราะคนอื่นมี, ของที่ไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

“If you buy things, you do not need, soon you will have to sell things you need.”
– Warren Buffett

การซื้อประสบการณ์ ชีวิตดีๆ มันไม่ผิด
แต่ต้องเป็น ชีวิตดีบนพื้นฐานที่มั่นคง
ไม่ใช่เอาเงินไปใช้หมดกับทริปหรูๆ แล้วกลับมานั่งไม่มีเงินใช้ยามฉุกเฉิน


สังคมบอกให้ออกไปใช้ชีวิต แต่ลืมบอกให้วางรากฐานก่อน

ทุกวันนี้เราถูกกระตุ้นให้ “ออกไปใช้ชีวิต”
เก็บเงินไว้ทำไม เดี๋ยวก็ตายแล้ว
แต่ไม่มีใครบอกเราว่า:

ก่อนจะใช้ชีวิต คุณต้องมีฐานชีวิตก่อน

รูปที่คุณลงในโซเชียลอาจดูดี
แต่เมื่อชีวิตจริงมาถึง และคุณไม่มีแผนสำรอง รูปนั้นช่วยอะไรคุณไม่ได้เลย


การจ่ายให้ตัวเองก่อน ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว

มันคือการวางแผนไม่ให้เราเป็นภาระคนอื่นในอนาคต
คือการมีวินัย เพื่อให้ตัวเองพึ่งพาตัวเองได้
และมันอาจเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่เราจะให้กับคนที่เรารัก

“Care about what other people think, and you will always be their prisoner.”
– Lao Tzu


สรุปสั้นๆ:

  • ได้เงินมา ให้จ่ายให้ตัวเองก่อน

  • มีเงินสำรองไว้ 6 เดือนก่อนจะคิดใช้กับสิ่งอื่น

  • อย่าหวังให้ลูกมาช่วย ถ้าตัวคุณไม่ช่วยตัวเอง

  • มีเงินเก็บ ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่ในวันที่ไม่มีเงินเลย คนที่ไม่มีอะไรนี่แหละ…ที่กลายเป็นภาระคนอื่น

  • สุดท้าย "เวลามีค่า ศึกษา bitcoin"

This post and comments are published on Nostr.